วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หลักการทำบุญ บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ

1. การบริจาคทาน (ทานมัย) คือ การเสียสละ ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจน กำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม ผู้ที่ทำงานใดๆ รู้จักเสียสละกำลังกายหรือกำลัง ทรัพย์ ก็ถือเป็นการสร้างบุญที่ดีทางหนึ่ง
2. รักษาศีล (สีลมัย) คือ การตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด  เพื่อให้พ้นจากการทำไม่ดี ทางร่างกาย 4 ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์  ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม  และ เสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และไปก่อโทษให้กับคนอื่น
วจีทุจริต 4 ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และสร้างสัมพันธภาพทีดีในการทำงาน และสุดท้ายคือ มโนทุจริต 3 ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่ผูกพยาบาทกับใคร และ ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม ทำให้เรา ดำเนินชีวิตด้วย การมีทัศนคติที่ดี ทั้งต่อตนเองและคนอื่น เป็นการสร้างบุญและ พื้นฐานแห่งความสำเร็จอีกมากมาย
3. การภาวนา (ภาวนามัย) คือ การอบรมจิตใจ เป็นการ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้ “สมาธิปัญญา” โดยการเริ่มฝึกจาก การทำใจให้สงบนิ่ง ก่อน แล้ว หัด สวดมนต์เพื่อให้จิตใจตั้งมั่นอยู่กับสิ่งที่ดี แล้ว จึง ฝึกด้วย การ เจริญภาวนา เพื่อจุดมุ่งหมายให้เข้าใจถึง ทางเจริญและ ทางเสื่อม หมายความว่า เมื่อรู้จักเจริญปัญญาแล้ว เราก็จะกลายเป็นคนที่แยกแยะได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี ควรทำ และไม่ควรทำ
4. การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) เป็น การให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ 3 ประเภท คือ ผู้ที่มี วัยวุฒิกว่า ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ  สองคือ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และสามคือผู้ที่มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย การให้ความเคารพแก่บุคคลที่ควรเคารพย่อมส่งผลให้ผู้กระทำ เป็นคนที่น่ารัก
5. การทำงานในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม หากเป็นการทำงานประกอบอาชีพใดๆ ก็คือ ตนเองได้ทำงานที่ชอบแล้วยัง ส่งผลดีต่อตนเองคือ เลี้ยงดูครอบครัวได้ดี และช่วยเหลือคนอื่นให้มีความสุข อีก จึงเป็น พลังบุญที่ ยิ่งใหญ่
6. การให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศล หรือการ แบ่งบุญ ที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย “ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ หรือแม้แต่ องค์เทพทั้งปวง” ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป
7. การอนุโมทนาบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)
คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย เป็นการสร้างบุญที่ง่ายมากทางหนึ่ง
8. การฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรม รวมไปถึง เรื่องราวดีๆ ที่ไม่จำกัดแต่ใน พระธรรม ที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น ให้คลายความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้ที่ดี นั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป
9. การแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ดี  หากเป็นพระภิกษุก็ย่อมเป็นการง่าย เพราะเป็นกิจของพระท่าน ที่ทำได้บ่อยๆ แต่ สำหรับคนทั่วไป ก็คือ การให้ความรู้ ให้ คำสอนในด้านคุณธรรม หรือแม้กระทั่ง เป็นตัวอย่างในการประพฤติตนที่ดี ประพฤติตนเป็นตัวอย่างให้กับบุคคลอื่นๆ ก็ ถือเป็นการสร้างบุญในข้อนี้เช่นเดียวกัน
10. การทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ เข้าใจในสิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารก็ตาม ทั้ง ทางเจริญทางเสื่อมเพื่อให้ชีวิตแยกแยะได้ว่า ควรจะทำอะไร ไม่ควรทำอะไร  ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็น ทัศนคติที่ดี อยู่เสมอ
 
เครื่องมือในการสร้างบุญ ทั้ง 10  ประการนี้  หากได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมากจนครบทั้ง 10 ประการแล้ว ผลบุญ ย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ ยิ่งได้มีการเตรียมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ หยุดในสิ่งที่ควรหยุด เข้าไปแล้วก็ยิ่งได้รับบุญมหาศาล และสามารถส่งบุญให้เหล่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลายได้ร่วมปกป้องและอวยพรปลอดภัย
และมีหลายข้อที่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาท เดียว การสร้างบุญกุศลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวน เงินว่าจะมากน้อยเท่าใด บางครั้งทำบุญแต่ไม่ได้บุญกลับได้บาปก็มีมากมาย แต่ขึ้นอยู่กับ
- วัตถุทานนั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้มาจากเบียดเบียนคดโกงผู้อื่น
- ผู้ให้นั้นบริสุทธิ์ มีเจตนาทำบุญไม่ได้หวังผลอื่นใด ประเภททำร้อยบาทหวังผลล้านบาทนั้นเป็นไปไม่ได้ มันค้ากำไรเกินควร ต้องใจบริสุทธิ์ครบทั้ง 3 กาลคือ ทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากการให้
- ผู้รับนั้นบริสุทธิ์ หมายความว่า ยิ่งผู้รับนั้นบริสุทธิ์หรือเรียกว่า “เนื้อนาบุญบริสุทธิ์” วัดหรือดูกันที่ด้วยท่านนั้นถือศีลมากข้อเท่าใด บุญของผู้ให้นั้นก็จะยิ่งมากขึ้นไปตามลำดับ ทำบุญกับพระสงฆ์ที่ถือศีล 227 ข้อย่อมมากกว่าคนธรรมดาที่ถือศีล 5 ทำบุญกับคนที่ถือศีล 5 ย่อมได้ผลมากกว่าคนไม่มีศีล
ยิ่งทำกับพระโสดาบัน พระอริยะสงฆ์ย่อมได้บุญมากหลายเท่าตัว หลักการที่จะดูว่าพระท่านใดนั้นมีเนื้อนาบุญสูงให้ดูที่วัตรปฏิบัติของท่าน อย่าไปดูที่สมณะศักดิ์หรือยศพระ เพราะบางที่พระที่ตำแหน่งสูงๆ ยังมีเนื้อนาบุญน้อยกว่าเณรองค์เล็กๆ เสียอีก เพราะแค่ห่มผ้าเหลืองสอนชาวบ้านได้ แต่สอนตัวเองไม่ได้หลอกประชาชนไปวันๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น